(กลางคืน) ปอดกลางเมือง ประติมากรรมสื่อผสมในรูปของกระต่ายกับดอกบัวสีทองที่นำตัวละครในตำนานมาสื่อความหมาย แนวคิดของประติมากรรมได้รับแรงบันดาลใจจากความหลากหลายของผู้คนในชุมชนสามย่าน และปัญหามลพิษภาวะทางอากาศ
รูปกระต่ายหมายถึงกระต่ายในดวงจันทร์ หลายชนชาติมีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันว่าบนดวงจันทร์มีกระต่ายอาศัยอยู่ โดยเห็นร่องรอยจันทรสมุทร (หลุมดำบนดวงจันทร์) แล้วเกิดเป็นจินตภาพ (pareidolia) รูปกระต่ายขึ้นมา ความเชื่อนี้มีในหลายชนชาติทั่วโลก เช่น แอฟริกา, ทิเบต, จีน, ญี่ปุ่น รวมถึงอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เปรียบเสมือนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสามย่าน นอกจากนั้น ในเทวปกรณัมของฮินดู พระจันทร์ เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ ทรงอุ้มกระต่ายไว้ในพระหัตถ์ คำว่ากระต่ายในภาษาสันสกฤต คือ "ศศะ" ดังนั้น ดวงจันทร์จึงมีชื่อเรียกว่า "ศศิน" แปลว่า "ซึ่งมีกระต่าย” และศศินทร์ (ผู้เป็นใหญ่ในหมู่กระต่าย) ก็เป็นนามพระราชทานของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
ด้านมลพิษภาวะทางอากาศนั้น World Health Organization (WHO) รายงานว่าผู้คนประมาณ 7 ล้านคนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ มลพิษทางอากาศที่มีอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งมลพิษส่วนใหญ่เกิดในใจกลางเมือง และย่านธุรกิจสำคัญ ดอกบัวสีทอง คือดอกไม้ที่มาพร้อมความงามและประโยชน์ใช้สอยคือการฟอกอากาศ และสื่อถึงชุมชนเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมอันงดงามซึ่งได้รับการพัฒนาสู่ความทันสมัย เป็นศูนย์กลางธุรกิจและเป็นเมืองแห่งอนาคต
สนใจเรื่อง Visual arts ใช่ไหม
รับข้อมูลอัปเดตจาก Culture Weekly ที่ปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ
เรียบร้อยแล้ว
Culture Weekly ฉบับแรกจะมาถึงในสัปดาห์นี้