มรดกความทรงจำแห่งโลก คือแผนงานที่องค์การยูเนสโก กำหนดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่ออนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเพื่อที่จะสืบสานส่งต่อให้แก่อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับมรดกเหล่านี้ ซึ่งจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในหอสมุด หอจดหมายเหตุ สถาบันการศึกษา และพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญๆ ทั่วโลก”
การขึ้นทะเบียนเริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ. 2538 ขณะนี้ทั่วโลกมีทั้งสิ้นประมาณ 400 รายการ อาทิ Gutenberg Bible (ไบเบิ้ลของกูเตนเบิร์ก) Bayeux Tapestry (ผ้าปักประดับฝาผนังบายู) Magna Carta (กฎบัตรแมกนา คาร์ตา) และ The film of the Wizard of Oz (ภาพยนต์เรื่องพ่อมดแห่งออช)
ในประเทศไทยมีสิ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว 3 รายการด้วยกัน รายการที่หนึ่ง ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2546) รายการที่สอง เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสยาม (ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2552) รายการที่สาม จารึกวัดโพธิ์ (ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ.2554) และบันทึกการประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการสยามสมาคมฯ นับเป็นรายการที่สี่ (ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2556)