ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เขียนขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๓๓๘ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการสร้างบ้านสร้างเมือง ผู้คนล้วนอพยพมาจากฝั่งธนบุรีซึ่งเดิมก็เป็นชาวอยุธยา แม้แต่ช่างเขียนภาพก็เช่นเดียวกัน ย่อมเป็นช่างที่ตกค้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์จึงถือได้ว่าเป็นยุคฟื้นฟูงานจิตรกรรมไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นมีแต่เรื่องของการรบทัพจับศึก การสร้างผลงานจึงมีลักษณะความอัดอั้นตันใจที่จะแสดงออกถึงฝีมือและการสร้างสรรค์ใหม่แต่แฝงด้วยคตินิยมสมัยเก่า ปัจจุบันภาพเขียนยุคเริ่มแรกเหลือน้อยมาก เนื่องจากสภาพอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งเป็นเขตร้อนชื้นทำให้ภาพจิตรกรรมฯ ชำรุดไปตามกาลเวลา ประกอบกับเทคนิคนิยมในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยที่สืบทอดกันมาเป็นการเขียนแบบปูนแห้ง ซึ่งแตกต่างจากเทคนิคการเขียนแบบปูนเปียกที่นิยมเขียนกันในแถบยุโรปซึ่งมีความคงทนมากกว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์จึงเกิดความชำรุดอย่างรุนแรง แต่ก็ได้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่องในยุคหลัง สันนิษฐานว่าเขียนซ่อมมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกทำให้ภาพมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้ว่าในความจริงศิลปะแบบดั้งเดิมของเรามีลักษณะพื้นฐานไม่สามารถเข้ากันได้กับศิลปะคลาสสิคแบบตะวันตก แต่ถือได้ว่าภาพที่เขียนซ่อมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ย่อมมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างน่าสนใจ
สนใจเรื่อง Visual arts ใช่ไหม
รับข้อมูลอัปเดตจาก Culture Weekly ที่ปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ
เรียบร้อยแล้ว
Culture Weekly ฉบับแรกจะมาถึงในสัปดาห์นี้