(กลางวัน) ประเทศไทยกับประเทศจีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานโดย ย้อนไปในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้) ของจีนได้มีบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงชนชาติไทย และในสมัยอาณาจักรสุโขทัยก็มีหลักฐานที่เห็นเด่นชัดว่าไทยติดต่อค้าขายกับชนชาติจีน กล่าวคือไทยได้รับเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผา (เครื่องสังคโลก) มาจากจีน อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่าง ไทยกับจีนน่าจะเริ่มขึ้นในช่วงนี้ ต่อมา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งตรงกับราชวงศ์หมิงของจีน ไทยกับจีนส่งขุนนางและทูตานุทูตเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกันหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม เฟื่องฟู อีกทั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จีนได้กลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย พ่อค้าในไทยสมัยนั้นส่วนมากจะเป็นคนจีน ในบรรดาเรือค้าขายที่นำสินค้าเข้ามายังไทยและซื้อสินค้าไทยกลับไปนั้น ส่วนมากจะเป็นเรือสินค้าจีน ทำให้ไทยส่งสินค้าไปสู่จีนสูงถึง 86 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าส่งออกทั้งหมด จากการค้าที่รุ่งเรืองระหว่างสองประเทศส่งผลให้คนจีนเข้ามาตั้งรกรากในไทยมากเกือบล้านคนตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลก และสงครามกลางเมืองของจีน ในทศวรรษที่ 1930-1950 มีชาวจีนจำนวนมากจากมณฑลทางใต้ของจีน อาทิ กวางตุ้ง ไห่หนาน ฝูเจี้ยน และกวางสี หลบหนีภัยสงครามและความอดอยากเข้ามาสร้างชีวิตใหม่ในประเทศไทย
ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายจีนได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยจนเกิดการผสมผสานระหว่างเผ่าพันธุ์ และส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขาย บ้างนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาเต๋า ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ตามความเชื่อและศรัทธาของแต่ละภูมิภาคที่ชาวไทยเชื้อสายจีนได้เข้ามาตั้งรกราก อย่างไรก็ตามชาวไทยเชื้อสายจีนทุกศาสนาจะประกอบพิธีกรรมดั้งเดิมตามแบบความเชื่อที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษจีนแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งงานเทศกาลของจีนที่สำคัญ เช่น ตรุษจีน วันไหว้พระจันทร์ หรือวันเชงเม้ง วันไหว้เทพเจ้า จะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในจังหวัดและหัวเมืองอื่น ๆ ที่มีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงวิถีความเชื่อ ความศรัทธาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทยเชื้อสายจีน
กรุงเทพมหานครมีไชนาทาวน์ที่มีชุมชนจีนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการตัดถนนเยาวราชขึ้นในปี พ.ศ. 2435 จึงทำให้ถนนเยาวราช เป็นย่านหลักของชุมชนจีนและกลายเป็นเขตการค้าหลักของกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนสามย่านซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยชุมชนแห่งนี้เติบโตและขยายตัวมาจากย่านเยาวราช ผู้คนในชุมชนสามย่านส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนและประกอบอาชีพการค้าขายเป็นหลัก ชุมชนสามย่านค่อย ๆ ขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีตลาดเป็นศูนย์กลางของชุมชน และรูปแบบวิถีความเชื่อความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่แห่งนี้ยังคงดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ตามแบบแผนบรรพบุรุษจีน โดยในชุมชนจะมีศาลเจ้าสำคัญเช่น ศาลเจ้าปึงเถ่ากง ศาลเจ้าแม่ทับทิม เป็นต้น เป็นที่พึ่งทางใจ และใช้เป็นพื้นที่จัดงานเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นประจำทุกปี
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้สร้างสรรค์เห็นว่ารูปแบบวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายจีนของชุมชนสามย่านนั้นมีคุณค่าแห่งความงามและความเชื่อความศรัทธาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตามแบบแผนที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ วิถีวัฒนธรรมนี้น่าสนใจยิ่ง จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมขุด “ชาวไทยเชื้อสายจีน : วิถี-ศรัทธา” เพื่อสะท้อนเรื่องราวรูปแบบวิถีชีวิตด้านการค้าขายของชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนสามย่าน รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ชาวไทยเชื่อสายจีนมีสืบต่อกันมา อีกทั้งผลงานชุดดังกล่าวจะใช้เป็นจุดสำคัญ (Landmark) ของชุมชนสามย่าน ส่งเสริมการท่องเทียวชุมชนด้วยผลงานศิลปกรรมต่อไป
สนใจเรื่อง Visual arts ใช่ไหม
รับข้อมูลอัปเดตจาก Culture Weekly ที่ปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ
เรียบร้อยแล้ว
Culture Weekly ฉบับแรกจะมาถึงในสัปดาห์นี้