แอนิเมชันถูกนิยามขึ้นอย่างหลากหลาย ผ่านกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาความรู้ แอนิเมเตอร์บางคนอาจบอกว่าแอนิเมชันคือศิลปะแห่งการสร้างชีวิตจากสิ่งไม่มีชีวิต บางคนอาจมองว่าแอนิเมชันเป็นภาพเคลื่อนไหวที่เกิดจากภาพนับร้อยนับพันร้อยเรียงกันที่อาจมีหรือไม่มีชีวิตก็ได้ ทั้งหมดนี้ สิ่งที่ถูกนิยามร่วมกันในงานแอนิเมชัน คือกระบวนการสร้างภาพลวงตาผ่านภาพเคลื่อนไหวที่ทำงานกับ ‘พื้นที่’ และ ‘เวลา’
Making Moving Image Tells - cover 2 (2022-08-16) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
เมื่อแอนิเมชันคือศิลปะแห่งการสร้างภาพลวงตาแบบหนึ่ง พื้นฐานการทำงานของแอนิเมชันจึงไม่ใช่แค่การสร้างภาพที่เป็น ‘ความต่อเนื่องของการรับรู้’ แต่ต้องมีความต่อเนื่องที่เชื่อมโยงกับความหมายและความรู้สึก
ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ผลงานแอนิเมชันจึงกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในฐานะผู้สร้างประสบการณ์ผ่านการเคลื่อนไหว
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต, สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และ Graphy Animation จัดทำนิทรรศการออนไลน์ ‘Making Moving Image Tells เมื่อเรื่องเล่าขยับได้’ ที่จะพาทุกคนมาสัมผัสศิลปะการ ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านเทคนิคแอนิเมชันหลากหลายรูปแบบ พร้อมสำรวจกระบวนการสร้างภาพเคลื่อนไหว ที่ทำให้เรื่องเล่าเหล่านั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการบอกเล่าชีวิต ผู้คน และสังคม ผ่านการผนวกองค์ความรู้ทางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ข้ามแขนง และท้ายที่สุด เพื่อค้นพบความหมายของการเล่าเรื่องในรูปแบบแอนิเมชันของคุณเอง
Part 1 - Nature of Animation (2022-08-18) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
ความหมายตามรากศัพท์ภาษากรีก แอนิเมชัน (Animation) ประกอบขึ้นจากคำว่า Anima ที่หมายความว่า หายใจ หรือวิญญาณ และคำว่า Mation ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า การแสดงออก (Performing) คำว่า Animation จึงมีความหมายว่า ‘การให้ชีวิต (A bestowing of life)’
แต่อย่างไรก็ตาม ความหมายของแอนิเมชันไม่เคยหยุดนิ่งอยู่เพียงหนึ่ง นิยามของแอนิเมชันต่างเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความคิดของมนุษย์
จาก ‘การให้ชีวิต’ สู่ ‘เครื่องมือสร้างภาพเคลื่อนไหว’
เมื่อมองย้อนกลับไปโดยใช้กรอบความคิดของโลกสมัยใหม่ แอนิเมชันอยู่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักการคิดอย่างมีเหตุผล
มนุษย์รับรู้ภาพและการเคลื่อนไหวเพื่อแยกแยะและทำความเข้าใจสิ่งรอบตัว สิ่งใดเคลื่อนไหวได้ สิ่งใดที่หยุดนิ่ง ทักษะนี้ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของสัญชาตญาณมนุษย์
การรับรู้การเคลื่อนไหวประกอบกับความคิดและจินตนาการของมนุษย์ เครื่องมือ และนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงผ่านยุคสมัย จึงทำให้เกิดเรื่องเล่ามากมายไม่รู้จบ
Cave Painting Prehistory (2022-08-18) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
ความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ การเล่าเรื่องด้วยภาพของมนุษย์ในยุคแรก ๆ จึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางธรรมชาติ จิตวิญญาณ หรือศาสนา ซึ่งปรากฏได้ในหลากหลายรูปแบบ
บางครั้งภาพเคลื่อนไหวก็เกิดขึ้นด้วยรูปแบบง่าย ๆ ผ่านแสงสะท้อนของแดด ลม ต้นไม้ ทะเล จากธรรมชาติ จากสายตา และจากจินตนาการของคนเรา ทั้งนี้เพื่อสื่อสารกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือแม้กระทั่งสื่อสารกับสิ่งที่ไม่สามารถหาคำตอบได้
Burn City's Wild Goat (2022-08-18) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
ภาพแพะ 5 ภาพ ถูกวาดอย่างต่อเนื่องกันบนภาชนะโถที่มีอายุกว่า 5,000 ปี
เพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวของแพะขณะกำลังกระโดดเพื่อกินใบไม้
เบื้องหลังการสร้างผลงานแอนิเมชันด้วยดินน้ำมันบนกระจก และบันทึกภาพด้วยกล้อง โดยศิลปินชาวอิหร่าน Bahar Kiamoghaddam (2022)
ดินน้ำมันถูกทำให้มีรูปร่างคล้ายลิง และปรับเปลี่ยนรูปร่างทีละเล็กทีละน้อย
เพื่อสร้างให้เกิดภาพของลิงที่กำลังเคลื่อนไหว
Part 2 - The Power of Human Perception and the Illusion of Movement (2022-08-18) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
ประสาทสัมผัส การรับรู้ และประสบการณ์ที่มนุษย์ได้สัมผัสกับภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพลวงตา ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของมนุษย์
การรับรู้เชิงภาพ (Visual Perception) ของมนุษย์มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคภาพเขียนสีในถ้ำ จนมาถึงการบันทึกภาพนิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำภาพมาร้อยเรียง จนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวที่รับรู้ได้ด้วยการฉายในความเร็วที่เหมาะสม
View from the Window at Le Gras
ภาพถ่ายแรกที่เกิดขึ้นบนโลก ถ่ายโดย Joseph Nicéphore Niépce ในปี 1826
เมื่อการเก็บภาพที่ตาเห็นได้เป็นวัตถุเกิดขึ้น การรับรู้ จดจำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงวิธีการจัดการกับอดีตของมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงไป จากการมองอดีตแบบนามธรรมมาสู่การมองเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายโดยเรดาร์ ได้เปลี่ยนแปลงการรับรู้และตีความความจริงบนโลกไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมนุษย์สามารถเห็นสิ่งหนึ่งเคลื่อนไหวในระยะที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาได้เป็นครั้งแรก ผ่านการตีความภาพสัญลักษณ์
God Point of View
ปี 1860 James Wallace ได้ถ่ายภาพมุมสูงจากบอลลูนภาพแรกของโลกที่สหรัฐอเมริกา ภาพนี้ได้สร้างมุมมองของพระเจ้า (God Point of View) ซึ่งเป็นมิติการมองเห็นที่มนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อนจากบนพื้นดิน และได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อขนานใหญ่ของมนุษย์
Part 2 -Sequential Art and In-Between (2022-08-18) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
ศิลปะของความต่อเนื่อง และภาวะระหว่าง
Sequential Art and In-Between
หนึ่งในพื้นฐานและถือเป็นหัวใจสำคัญของแอนิเมชัน คือ ‘ความต่อเนื่อง’ ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องของการรับรู้ ความต่อเนื่องของความรู้สึก ความต่อเนื่องของความหมาย ความต่อเนื่องของภาพ
ในภาพยนตร์ การเปลี่ยนแปลงของภาพอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในความเร็ว 24 ภาพต่อวินาที ซึ่งเป็นความเร็วที่นักทำภาพยนตร์เชื่อว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการสร้าง 'ภาพติดตา' บนจอภาพยนตร์ โดยมี 'ภาวะระหว่าง’ ร่วมสอดแทรกอยู่ และเป็นส่วนหนึ่งของภาพติดตา จนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวแก่ผู้ชม
แต่ในชีวิตประจำวัน เกือบจะตลอดเวลา มนุษย์มองเห็นภาพเคลื่อนไหวที่มีความเร็วเกินกว่าจะรับรู้หรือสังเกตได้ ว่าภาพเคลื่อนไหวนั้นเกิดจากความต่อเนื่องกันของภาพนิ่งหลาย ๆ ภาพ
นอกจากภาวะระหว่างในแอนิเมชัน จะเป็นความเข้าใจพื้นฐานที่ใช้เพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวแล้ว ยังถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการเฝ้ามองและสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกด้วย
Part 2 - Life Drawing_3 (2022-08-22) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
Life Drawing (2013) โดย พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ บอกเล่าการเคลื่อนไหวของชีวิตผ่านภาพวาดลายเส้นต่อเนื่องบนกำแพง
ปกติภาพเคลื่อนไหวแบบ Frame by Frame Animation จะนำเสนอเพียงทีละภาพต่อเฟรม โดยการเคลื่อนไหวจะแบ่งออกเป็นการเปลี่ยนแปลงย่อย ๆ ส่วนมากมักระบุจุดเริ่มต้นและจุดจบของการเคลื่อนไหวหลัก (keyframe) ก่อนจะเชื่อมช่องว่างด้วยการเคลื่อนไหวตรงกลางระหว่างสองการเคลื่อนไหวหลักนั้น (in-between)
ผลงานชิ้นนี้ ศิลปินเลือกจะนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อที่อยู่ตรงกลางระหว่างภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว โดยนำภาพการเคลื่อนไหวทั้งหมดมากางออก จัดวางจนไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่แน่ชัด รวมทั้งออกแบบการจัดวางภาพให้เป็นอนันต์ คือสามารถดำเนินต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด
Part 2 - Life Drawing_2 (2022-08-22) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
การมองเห็นภาพนิ่งหลาย ๆ ภาพเรียงต่อกันช่วยขับเน้นให้ผู้ชมสังเกตถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของชีวิต การเปลี่ยนแปลงของเวลา ร่างกาย และสิ่งรอบตัว
ผู้ชมที่ยืนดูผลงานบนกำแพงนี้สามารถควบคุมกรอบการมองและเวลาที่จดจ้องแต่ละภาพ สายตาที่เลื่อนผ่านภาพแต่ละภาพไม่ต่างจากการทำงานของภาพยนตร์ หากแต่ผู้ชมมีอำนาจในการกำหนด 'พื้นที่' และ 'เวลา' ในจังหวะของตัวเอง
Capturing Movement (2011) โดย เกวลี วรุตม์โกเมน
ผลงานชิ้นนี้ถึงแม้จะคล้ายคลึงกับ Life Drawing (2013) ในแง่ที่การเคลื่อนไหวถูกบันทึกไว้บนพื้นที่กระดาษเดียวกัน โดยมีการเคลื่อนไหวหลัก 2 จุด และมีสภาวะตรงกลาง (in-between) ระหว่างการเคลื่อนไหวนั้น แต่จะเห็นได้ว่ามุมมองที่ศิลปินเลือกใช้ในผลงานชิ้นนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิง
งานชิ้นนี้เป็นความพยายามในการบันทึกการเคลื่อนไหวของนักเต้นที่เดินไป-กลับในความเร็วที่ต่างกัน แบบฝึกหัดนี้นำโดยอาจารย์ Mike Croft ที่ชวนมาตั้งคำถามและท้าทายการรับรู้ภาพเคลื่อนไหวแบบ Frame by Frame Animation ที่คุ้นชินในวงการด้วย
ผลลัพธ์ของผลงานจึงเป็นการสำรวจและบันทึกการเคลื่อนไหวที่ถูกรับรู้ ณ ขณะนั้น ๆ โดยไม่อิงกับภาพโครงสร้างโดยรวมทั้งหมดนั่นเอง
เบื้องหลังผลงานแอนิเมชันจากดินน้ำมัน
โดยศิลปินชาวอิหร่าน Bahar Kiamoghaddam (2022)
ด้วยความแข็งและความนุ่มที่สามารถเปลี่ยนแปลงแต่ก็คงรูปได้ ดินน้ำมันจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือทำงานแอนิเมชันที่มีจุดเด่นอย่างมากในการแปลงรูป (Metamorphosis) เพื่อสร้างการเคลื่อนไหว
Part 3 - Animation Aesthetics (2022-08-18) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
เมื่อพูดถึงงานแอนิเมชัน แต่ละคนจะนึกถึงอะไรกันบ้าง?
การ์ตูน 2 มิติ 3 มิติจากสตูดิโอยักษ์ใหญ่ระดับโลก ภาพยนตร์ที่ผู้สร้างวาดภาพนับหมื่นรูปมาต่อกัน ภาพเคลื่อนไหวที่เล่นล้อไปกับเสียงเพลงในมิวสิกวิดีโอ หรือแอนิเมชันก็เป็นแค่การสร้างภาพลวงตาผ่านการทำงานระหว่างพื้นที่และเวลา
การรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของพื้นที่ต่าง ๆ ในงานแอนิเมชัน และเปิดมุมมองให้เห็นเทคนิคการสร้างงานที่ไม่ได้มีขีดจำกัด จึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนางานแอนิเมชันไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม
เรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านภาพเคลื่อนไหวจากศิลปินทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่มีวิธีคิด ความเชื่อ และมุมมองต่อแอนิเมชันที่หลากหลายต่อไปนี้ ถูกรวบรวมขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตั้งคำถามต่อการรับรู้การเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง และชีวิต ที่อาจทลายกรอบคิดเดิม ๆ ของงานแอนิเมชัน
Phonotrope
Phonotrope เป็นอุปกรณ์สร้างภาพลวงตาด้วยการมองภาพนิ่งผ่านกล้องวิดีโอ เพื่อให้เกิดภาพเคลื่อนไหวติดตาตรงหน้า (live, present) โดยใช้ความเข้าใจเรื่องอัตราเฟรมและความเร็วของชัตเตอร์เข้ามาเป็นองค์ประกอบ
Orbit (2019) ผลงานภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียนจัดแสดง ของศิลปิน Tess Martin ที่ประกอบด้วยภาพยนตร์แอนิเมชันสั้น ศิลปะแบบจัดวางแบบมีส่วนร่วม (Interactive installation) และภาพจัดแสดง เพื่อบอกเล่าการไหลของพลังงานและวัฏจักรของโลก
Part 3 - Orbit by Tess Martin_3 (2022-08-24) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
ภาพวาดแต่ละภาพถูกพิมพ์และวางเรียงต่อกันเป็นวงกลม ภาพแรกและภาพสุดท้ายเชื่อมบรรจบกันบนแผ่นเสียง เมื่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงทำงาน ภาพพระอาทิตย์ ก้อนเมฆ น้ำ ไฟ สัตว์ มนุษย์ และสิ่งของต่าง ๆ จะค่อย ๆ เคลื่อนไหวไหลต่อเนื่องเป็นวัฏจักร ควบคู่กับเสียงที่ถูกบันทึก
การเคลื่อนไหวของก้อนพลังงานถูกศิลปินถ่ายทอดลงบนกระดาษ และสร้างการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องผ่านการใช้คอมพิวเตอร์
วิดีโอเบื้องหลังการทำงานและการสร้างแอนิเมชัน
Orbit ศิลปินได้อธิบายขั้นตอนการสร้าง ตั้งแต่การร่างภาพลงบนกระดาษ การตัดแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การคำนวณจำนวนเฟรมภาพต่อความเร็วในการเล่นแผ่นเสียงที่เป็นหัวใจของงานชิ้นนี้ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมของผู้ชมกับตัวงาน
Zoetrope
Zoetrope เป็นเครื่องมือที่ใช้สร้างภาพเคลื่อนไหวลวงตา เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการคิดค้นกล้องภาพยนตร์ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกที่มีแกนหมุนตรงจุดศูนย์กลาง โดยรอบนอกจะมีภาพที่แตกต่างกันเล็กน้อยเรียงกันตามลำดับ ระยะห่างระหว่างแต่ละภาพจะมีร่องยาวตัด
เมื่อทำการหมุน Zoetrope และมองผ่านร่องยาวตัดนั้น ภาพติดตาจะเกิดขึ้นจากความเร็วของการหมุนแกนทรงกระบอก ผู้ชมจะมองเห็นภาพเหล่านั้นเคลื่อนไหวต่อเนื่องกัน
Hide and Seek (2021) โดย ภัทร นิมมล
เป็นผลงานแอนิเมชันภาพเคลื่อนไหวสองมิติสื่อผสมโดยใช้เทคนิค Zoetrope มาประยุกต์ใช้
ศิลปินได้พูดถึงการมีส่วนร่วมและส่วนทับซ้อนของพื้นที่ความเป็นเด็กกับความเป็นผู้ใหญ่ในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับชิ้นงานและพื้นที่นั้น ๆ โดยการเข้าไปควบคุมความเร็วช้าของภาพเคลื่อนไหวด้วยมือของตัวเอง
Part 3 - Early Morning Life (2022-08-24) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
Cutout Animation
เทคนิคการทำแอนิเมชันโดยใช้วัสดุหรือวัตถุใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ผ้า หรือสิ่งของต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้
โดยพื้นฐานการทำงานจะเป็นการขยับชิ้นส่วนสิ่งของเหล่านั้นและถ่ายรูปทีละภาพ (Frame by Frame) เพื่อสร้างให้เกิดการเคลื่อนไหว โดยอาจใช้วิธีการตั้งกล้องแบบแนวระนาบหรือแนวตั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและคุณสมบัติของวัตถุที่นำมาใช้งาน
Early Morning Life (2011) โดย ศรัณย์ เย็นปัญญา
บอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกเกี่ยวกับสถานะทางสังคมของตนเอง และพูดถึงความจนและความรวยผ่านการใช้วัสดุในการทำแอนิเมชันที่มาจากข้าวของทั่วไป
Oil Pastel on Paper Animation
Sweat Sweet (2018) ผลงานแอนิเมชันสีเทียนบนกระดาษของศิลปิน June Kim (Jung Hyun Kim) ที่บอกเล่าความรู้สึกและการจดจำวัยเด็กของตนเองที่มีต่อความสัมพันธ์ของแรงปรารถนาทางเพศระหว่างพ่อกับแม่
Part 3 - Sweat Sweet - June Kim_2 (2022-08-24) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
ด้วยคุณสมบัติของสีเทียนที่ง่ายต่อการขีดเขียน เหมาะสำหรับทุกคนแม้แต่กับผู้ที่เพิ่งหัดวาดภาพระบายสี และมักถูกใช้เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ของเด็ก บ่อยครั้งงานสีเทียนจึงสร้างให้เกิดความรู้สึกและการรับรู้ที่ข้องเกี่ยวกับเด็กหรือช่วงปฐมวัย
Part 3 - Making of Sweat Sweet (2022-08-24) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
เทคนิคการสร้างแอนิเมชันด้วยสีเทียนนั้นไม่ได้ต่างจากการใช้ดินสอวาดบนแผ่นกระดาษหรือการใช้สีวาดบนแผ่นใสทีละแผ่น ๆ (Frame by Frame Animation) ก่อนจะนำภาพมาเรียงต่อกันและบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูปหรือเครื่่องสแกน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมแอนิเมชันทั่วโลก
แต่สุนทรียะทางความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างรับชมผลงาน ย่อมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับทักษะของผู้สร้าง และวัสดุในการสร้างชิ้นงานเช่นกัน
Chinese Ink on Japanese Paper Animation
Deforming after Transforming (2021) เป็นผลงานของศิลปินชาวญี่ปุ่น Fukumi Nakazawa ที่เปรียบเปรยมุมมองของมนุษย์ต่อการปรับตัวในการใช้ชีวิต การเปลี่ยนร่างกายของตนเพื่อเป็นแรงงาน การเปลี่ยนร่างกายของตนเองไปสู่สิ่งอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความสุขทางใจ
ความเข้มของหมึกจีน เมื่อสัมผัสกับความบางของกระดาษญี่ปุ่น น้ำหมึกจะทะลุผิวกระดาษลงไป ภาพที่ปรากฏขึ้นจึงไม่ได้อยู่เพียงบนระนาบผิวกระดาษอีกต่อไป เมื่อนำภาพหลาย ๆ ภาพมาวางทับซ้อนกัน การมองทะลุภาพที่เห็นตรงหน้าและภาพก่อนหน้า จะช่วยขับเน้นทำให้มองเห็น ‘การเปลี่ยนแปลง’ ของแต่ละภาพ
Direct Animation
วิธีการสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยตรงโดยไม่ใช้วิธีถ่ายภาพทีละภาพ (Frame by Frame) โดยกล้องถ่ายภาพ แต่เป็นการสร้างภาพแต่ละภาพบนม้วนฟิล์มโดยตรง หรือบนกระดาษหรือวัสดุใด ๆ
ผลงานแอนิเมชัน Wartä - Einä Ninnts (2021) โดย Silvan Zweifel
สร้างขึ้นจากเทคนิคการขีดสร้างร่องรอยบนกระดาษ
Under-camera Techniques
การสร้างงานแอนิเมชันด้วยเทคนิคอุปกรณ์ วัตถุ หรือวัตถุดิบที่ต่างกัน ล้วนก่อให้เกิดสุนทรียะทางความรู้สึกทั้งต่อผู้สร้างและผู้รับชมที่ต่างกันไป
Sand Animation
เทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยการใช้ทรายบนแผ่นกระจก ด้วยคุณสมบัติของทรายที่มีขนาดเล็ก รวมถึงความเข้มอ่อนของภาพที่เกิดจากการกระทบกันของเม็ดทรายและแสงไฟ การสร้างและเปลี่ยนแปลงรูปร่างและการเคลื่อนไหวด้วยการขยับเม็ดทราย ถือเป็นลักษณะเด่นของเทคนิคนี้
ผลงานแอนิเมชัน The Birds Are In My Head (2020) โดยศิลปิน Milly Yencken จากออสเตรเลีย ถูกสร้างด้วยเทคนิคทรายบนกล่องไฟ (Light Box)
“ฉันกระซิบคุยกับทราย หวังว่าทรายจะกระซิบตอบกลับ” ไมลีย์ เยนเค็น
Charcoal Animation
การใช้ถ่านชาร์โคลสร้างภาพเคลื่อนไหว ด้วยลักษณะของถ่านที่ทิ้งร่องรอยไว้บนกระดาษได้ง่าย เทคนิคนี้จึงมักถูกใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของภาพก่อนหน้าและภาพปัจจุบันในขณะเดียวกัน
ผลงานแอนิเมชัน Külluse Metsas (2021) โดยศิลปิน Milly Yencken
ถูกสร้างด้วยเทคนิคถ่าน (Charcoal) บนกระดาษ
Paint on Glass Animation
การใช้สีน้ำมันหรือสีประเภทอื่น ๆ วาดบนกระจก ภาพเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะมีสีและลักษณะรอยฝีแปรงหรือนิ้วมือ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเทคนิคนี้
ผลงานแอนิเมชัน Diver in the Desert (2020) โดยศิลปิน Milly Yencken สร้างด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนกระจก
Part 3 - Orbit by Tess Martin_5 (2022-08-24) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
จากเทคนิคสร้างสรรค์และเล่าเรื่องผ่านงานแอนิเมชันที่นำเสนอมาทั้งหมด น่าจะพอทำให้ทุกคนได้เห็นความเป็นไปได้และนิยามใหม่ ๆ ของคำว่า ‘แอนิเมชัน’ ที่เกิดการให้ความหมาย ตีความ และใช้งานได้อย่างหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน
Part 3 - Direct Animation-1 (2022-08-22) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
คำจำกัดความของคำว่าแอนิเมชันในกรอบความหมาย ‘การให้ชีวิต’ หรือในฐานะสื่อการ์ตูนสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นผลจากความสำเร็จของอุตสาหกรรมแอนิเมชันในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงปี 1930 นั้นจำกัดเกินไปแล้ว สำหรับการมีอยู่ของแอนิเมชันในทุกวันนี้
และยิ่งน่าสนใจว่าเครื่องมือและวิธีคิดในการทำงานกับแอนิเมชัน ยังรอให้ผู้สร้างและผู้ชมเข้าไปสำรวจและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อีกมากมายในอนาคต
Part 3 - Animation is A Medium, Not A Genre (2022-08-24) โดย TCDCThailand Creative & Design Center
“Animation is a medium, not a genre” เป็นวลีที่ถูกใช้และพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บนพื้นที่ต่าง ๆ ของคนทำงานแอนิเมชันทั่วโลก ด้วยวิธีคิดและวิธีการทำงานที่มองแอนิเมชันด้วยมุมมองใหม่ ว่าเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในหลายมิติ ไม่ได้มองเป็นเพียงประเภทหรือหมวดของการเล่าเรื่องบนจอภาพยนตร์หรือจอโทรทัศน์เท่านั้น
Graphy Animation และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
ขอขอบคุณศิลปินและองค์กรที่มีส่วนร่วมในนิทรรศการนี้
สนใจเรื่อง Visual arts ใช่ไหม
รับข้อมูลอัปเดตจาก Culture Weekly ที่ปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ
เรียบร้อยแล้ว
Culture Weekly ฉบับแรกจะมาถึงในสัปดาห์นี้