กำลังโหลด

สังสรรค์

ศุภเดช หิมะมาน2021

คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จังหวัด กรุงเทพมหานคร, ไทย

(กลางคืน) พื้นที่ของย่านสามย่าน-สวนหลวงนั้นเดิมเป็นแหล่งชุมชนของคนไทยเชื้อสายจีนที่ขยายมาจากย่านเยาวราช ผู้คนในย่านนี้จึงทำอาชีพด้านการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ ชุมชนค่อยๆขยายตัวขึ้นเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ มีตลาดสดซึ่งขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพและความสดใหม่ของสินค้า ทำให้ตลาดสามย่านเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะของแหล่งค้าของสดที่มีคุณภาพ จากแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพนี้ ผู้คนที่เข้ามาอยู่ในชุมชนก็ได้ต่อยอดไปกับภูมิปัญญาด้านการปรุงอาหารในตำรับจีนที่ได้รับสืบทอดมา ขยายพื้นที่รอบสามย่านสู่สวนหลวงให้เป็นแหล่งรวมร้านอาหารที่มีความหลากหลายแต่ยังคงเอกลักษณ์ของอาหารตำรับจีน ความหลากหลายนี้ไม่เพียงแค่ชนิดหรือประเภทของอาหารที่มีให้เลือกมากมายเท่านั้น ยังรวมถึงกลุ่มของผู้ใช้บริการหรือผู้ที่มารับประทานอาหารด้วย เนื่องจากพื้นที่สามย่าน-สวนหลวงและบริเวณโดยรอบเป็นแหล่งธุรกิจและสถานศึกษา จึงมีทั้งผู้ที่ใช้แรงงาน พนักงานสำนักงาน นักเรียน นิสิต นักศึกษา หมุนเวียนเข้ามาใช้บริการร้านอาหารทั้ง เช้า กลางวัน เย็น ค่ำ ทำให้สถานที่ สามย่าน สวนหลวงนี้ เสมือนเป็นสถานที่ “สังสรรค์” ผู้ที่เครียดและเหนื่อยล้าจากการงานหรือการเรียน สามารถมารับประทานอาหารที่นี่ให้เพลิดเพลิน ลืมความเครียดไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะมาคนเดียว มากับพวกพ้องหรือครอบครัว ร้านอาหารย่านนี้ที่นี่ไม่แบ่งยากดีมีจน ไม่แบ่งสถานะทางการศึกษาหรือสถานะทางสังคม
ปัจจุบันพื้นที่สามย่าน สวนหลวงได้มีการจัดการพื้นที่ใหม่ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยให้มีระเบียบมากขึ้น ธุรกิจที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยถูกยกเลิก ปรับปรุงใหม่ให้เป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา ศิลปะ และย่านการค้า คนในชุมชนดั้งเดิมย้ายออกไปบ้างทั้งด้วยการขยายตัวของครอบครัวและธุรกิจ ร้านค้าใหม่และผู้คนกลุ่มใหม่ย้ายเข้ามาอยู่อย่างผสมผสานกับรากฐานชุมชนดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ วัฒนธรรมชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน
การจัดสร้างประติมากรรมครั้งนี้ ผู้จัดทำผลงานได้รับพื้นที่ย่านการค้าสวนหลวงที่มีแหล่งรวมของร้านอาหารที่ไม่ว่าจะเป็นร้านเก่าดั้งเดิม หรือร้านใหม่ ที่ล้วนอยากมีบรรยากาศของการ “สังสรรค์” รวมถึงความคาดหวังของร้านค้าอื่น ๆ ที่ต้องการให้ย่านการค้าสวนหลวงมีความคึกคัก มีผู้คนแวะเวียนมาเสมอ ๆ ผู้จัดทำจึงนำความคิดความเชื่ออันเป็นมงคลตามวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนมาร่วมในการออกแบบ ด้านรูปทรงประติมากรรมได้ออกแบบโดยเลียนแบบโคมไฟแปดเหลี่ยมที่ทำด้วยกระดาษซึ่งนิยมนำมาประดับตามบ้านเรือนเพื่อเรียกความเป็นมงคลเข้าบ้าน หรือนำไปตกแต่งตามแหล่งการค้าเป็นทางยาวเพื่อสร้างบรรยากาศดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้าน โคมไฟเหล่านี้มักจะตกแต่งด้วยภาพสิ่งที่เป็นมงคล เช่น ตัวอักษรจีนความหมายดี หรือสัตว์มงคลต่างๆ โดยวาด พิมพ์ หรือฉลุภาพสิ่งเหล่านั้นลงบนกระดาษ ตัดภาพออกมาแล้วนำไปตกแต่งโคมไฟ ผู้จัดทำได้ขยายรูปทรงเลียนแบบโคมไฟแปดเหลี่ยมนี้ให้เป็นซุ้มขนาดใหญ่ ใช้การตกแต่งแผ่นผนังด้วยการฉลุเลียนแบบศิลปะการตัดกระดาษแบบจีนอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผนังฉลุลวดลายสี่ทิศนี้ฉลุเป็นลายสัตว์มงคลประจำทิศทั้งสี่ตามคติทางดาราศาสตร์โบราณของจีน ซึ่งสัตว์มงคลทั้งสี่มีดังนี้
เต่าดำ สัตว์ประจำทิศเหนือ ตัวแทนของธาตุน้ำและฤดูหนาว ลวดลายประกอบจึงเป็นมีลักษณะ ของคลื่นน้ำและดอกไม้ที่อยู่ในน้ำคือดอกบัว เต่าที่มีงูพันตัวเป็นสัญลักษณ์แทนความมั่งคั่ง อายุยืนยาว ความสุข
หงส์แดง สัตว์ประจำทิศใต้ ตัวแทนธาตุไฟและฤดูร้อน ลวดลายประกอบมีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ ลักษณะของหงส์จะมีขนเป็นเปลวไฟ แสดงถึงพลังการเกิดใหม่ สัญลักษณ์แทนโชคลาภและทรัพย์สิน ตกแต่งด้วยด้วยดอกบ๊วย
มังกรเขียว สัตว์ประจำทิศตะวันออก ตัวแทนธาตุไม้และฤดูใบไม้ผลิ ตกแต่งลวดลายด้วยดอกโบตั๋นและ ลูกไม้ที่ถูกตัดทอน มังกรแบบจีนหัวจะเป็นกิเลน ตัวเป็นงู หางเป็นปลา สัญลักษณ์แทนบารมี เกียรติยศและความรุ่งเรือง
เสือขาว สัตว์ประจำทิศตะวันตก ตัวแทนธาตุทองและฤดูใบไม้ร่วง ลวดลายประกอบเป็นเหรียญทอง และดอกเบญจมาศ เสือขาวเป็นสัญลักษณ์ของผู้พิทักษ์และอำนาจ การปกปักรักษา ความเคารพยำเกรง
จั่วของซุ้มประติมากรรมได้นำลักษณะของจั่วของศาลเจ้าจีนที่คำนึงถึงเรื่องทิศและธาตุมาร่วมออกแบบด้วย การพบปะสังสรรค์กันของสัตว์มงคลจากทิศทั้งสี่นี้ อุปมาเหมือนการรวมกันของความสุข อายุยืนยาว โชคลาภ ทรัพย์สิน บารมีและอำนาจ อีกทั้งตัวอักษรจีนที่มีความหมายอันเป็นมงคลอยู่ตามทิศทั้ง 8 ที่ตกแต่งทั้งส่วนผนังและหลังคาซุ้ม จะสร้างความหมายอันดีแก่ผู้มาเยี่ยมชม

แสดงน้อยลงอ่านเพิ่มเติม
  • ชื่อ: สังสรรค์
  • ผู้สร้าง: ศุภเดช หิมะมาน
  • วันที่สร้าง: 2021
  • สถานที่สร้าง: Bangkok, Thailand
  • ขนาด: jpeg file
  • ประเภท: Sculpture
  • สิทธิ์: Supadach Himamarn
  • สื่อ: ภาพถ่าย
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดาวน์โหลดแอป

สำรวจพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และสนุกกับฟีเจอร์ Art Transfer, Pocket Gallery, Art Selfie และอีกมากมาย

สนใจเรื่อง งานฝีมือ ใช่ไหม

รับข้อมูลอัปเดตจาก Culture Weekly ที่ปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ

เรียบร้อยแล้ว

Culture Weekly ฉบับแรกจะมาถึงในสัปดาห์นี้

หน้าแรก
สำรวจ
เล่น
ใกล้เคียง
รายการโปรด