การเยือนของนายโรเบิร์ตส์ -
นายเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ (พ.ศ. ๒๓๒๗-๒๓๗๙) ตัวแทนของสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนจักรวรรดิและราชอาณาจักรที่สำคัญ ๆ ในทวีปเอเชีย เพื่อจัดทำข้อตกลงทางการค้าในนามของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นภารกิจทางการทูตภารกิจแรกของประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่นี้ นายโรเบิร์ตส์และลูกเรือของเรือรบอเมริกัน พีค็อกเดินทางมาถึงอ่าวสยามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๗๖ ซึ่งใช้เวลาเกือบหนึ่งปีนับจากวันที่ออกเดินทางจากเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของสยามได้เพียงแค่ครึ่งศตวรรษเท่านั้นเมื่อครั้นที่นายโรเบิร์ตส์และคณะเดินทางมาถึงสยาม แต่กระนั้น ก็ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่พลุกพล่านภายในช่วงเวลาไม่นาน
ในระหว่างที่พำนักอยู่ที่บางกอก นายโรเบิร์ตส์มักพบปะพูดคุยกับดิศ บุนนาค ซึ่งในขณะนั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลัง (กรมพระคลัง) และรับผิดชอบด้านการเจรจาสนธิสัญญา
สามปีหลังจากที่มีการร่างสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศในทวีปเอเชีย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงประทับพระราชลัญจกรรูปไอราพตเป็นการให้สัตยาบันอย่างสมบูรณ์ พร้อมกันกับรัฐสภาสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีมาร์ติน แวน บิวเรน (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๐๕) เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่เข้าใจภาษาของอีกฝ่ายมากพอ จึงมีการเขียนเนื้อความเป็นภาษาโปรตุเกสและภาษาจีนกำกับ “ไว้เปนพญานเรื่องความ” ด้วย จุดประสงค์หลักของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ เพื่อกำหนดระบบอากรที่ใช้กำกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าโดยพ่อค้าชาวอเมริกัน ด้วยเช่นนั้น จึงเป็นการส่งเสริมการค้าด้วย ถึงแม้ว่าความสำเร็จของสนธิสัญญาฉบับนี้จะมีข้อจำกัดด้วยระยะทางอันห่างไกลที่กั้นกลางระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ก็นับว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นก้าวที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาและสยามในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในฐานะที่เป็นประเทศที่ทรงอำนาจของโลก