เมเลียส: ชีวิตนักมายากล
ฌอร์ฌ เมเลียสเกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1861 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งแห่งวงการภาพยนตร์ยุคบุกเบิก ฌอร์ฌ เมเลียสเคยเป็นนักมายากลที่มีพรสวรรค์และไม่เคยทิ้งอาชีพดังกล่าวแม้จะผันตัวไปเป็นผู้กำกับแล้วก็ตาม เมเลียสหลงใหลหุ่นกระบอกตั้งแต่อายุยังน้อย และเริ่มสนใจการเล่นมายากลจากการดูการแสดงของปรมาจารย์ด้านมายากลอย่างจอห์น มาสเกลีน และเดวิด เดแวนต์
อาจารย์ผู้ฝึกสอน: โรแบร์-อูแดง
ในเดือนกรกฎาคมปี 1888 เมเลียสใช้เงินจากครอบครัวฝั่งบิดาเพื่อซื้อโรงแสดงมายากลเล็กๆ ซึ่งเป็นของฌอง ยูจีน โรแบร์-อูแดง ผู้ฝึกสอนมายากลให้แก่เมเลียส
ณ โรงแสดงมายากลแห่งนี้ เมเลียสได้ปลดปล่อยจินตนาการอันเจิดจรัสเป็นครั้งแรกด้วยการแสดงมายากลและละครสุดมหัศจรรย์
ยุคเริ่มต้นของกล้องถ่ายภาพยนตร์
ช่วงปลายปี 1895 ฌอร์ฌ เมเลียสได้เห็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ของ 2 พี่น้องตระกูลลูมิแยร์ที่ปรากฏสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกและเขาก็ทึ่งกับสิ่งที่ได้ประจักษ์ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าระหว่างที่ชมอยู่นั้น เขาและผู้ชมต่าง "นั่งอ้าปากค้างและตะลึงจนพูดไม่ออก" เมเลียสเห็นศักยภาพที่น่าอัศจรรย์ของ “Cinématographe Lumière” ทันที
ก้าวแรกสู่วงการภาพยนตร์
แต่พี่น้องตระกูลลูมิแยร์ปฏิเสธที่จะขายอุปกรณ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาคิดว่า "สิ่งประดิษฐ์นี้ไร้ซึ่งอนาคต" โชคดีที่เมเลียสไปเจออุปกรณ์ที่คล้ายกันในลอนดอน ซึ่งเป็นของโรเบิร์ต วิลเลียม พอล นักประดิษฐ์อุปกรณ์วิทยาศาสตร์
Escamotage d'une dame chez Robert-Houdin - Extrait โดย Georges MélièsThe Cinémathèque française
1 ปีต่อมา เมเลียสสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกได้สำเร็จ โดยแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการลอกผลงานของพี่น้องตระกูลลูมิแยร์ก็ว่าได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาได้สร้างภาพยนตร์แนว Trick Film เรื่อง “The Vanishing Lady” (1896) ซึ่งเป็นการผสมผสานมายากลและภาพยนตร์เข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกและถือว่าเป็นต้นแบบให้ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ หลังจากนั้นด้วย
ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ
จักรวาลในภาพยนตร์ของเมเลียสที่มีความโหดร้ายและดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วนั้นทำให้ผู้ชมหวาดกลัวและหัวเราะไปพร้อมๆ กัน เรื่องราวที่ภูตผี โครงกระดูก และปีศาจฟื้นคืนชีพในฉากที่ใช้การถ่ายภาพแบบลวงตา (Forced Perspective) ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและอยากดูผลงานของเขาอีก
สตูดิโอที่เมืองมอนทริอิล
เพื่อสานต่อความสำเร็จ เมเลียสได้ใช้เงินจำนวนมากไปกับสร้างสตูดิโอภาพยนตร์บนที่ดินของครอบครัวในเมืองมอนทริอิล ใกล้กับกรุงปารีส โดยเป็นสตูดิโอที่มีทั้งห้องแต่งตัวนักแสดง ห้องเก็บของประกอบฉาก ประตูกล และอุปกรณ์กรองแสง เมเลียสใช้สตูดิโอแห่งนี้สร้างภาพยนตร์จนกระทั่งสิ้นสุดอาชีพนักสร้างภาพยนตร์
สตูดิโอบานกระจกที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั้นถูกทำลายจนเหลือแต่ซากในสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพยนตร์แนว
เทคนิคภาพซ้อน, เทคนิค Cross Fading, การตัดต่อ, พื้นหลังสีดำ, เทคนิคการถ่ายภาพระยะใกล้บนรางเลื่อน, เอฟเฟกต์แบบการแสดงละครและเทคนิคการใช้พลุ, ภาพลวงตา…
Le Cake-Walk infernal - Extrait โดย Georges MélièsThe Cinémathèque française
The Man with the Rubber Head
เทคนิคการสร้างภาพยนตร์ของเมเลียสมักแฝงความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใครเอาไว้มากมาย เช่น ในภาพยนตร์เรื่อง "L'Homme à la tête de caoutchouc" (The Man with the Rubber Head) เขาเล่นกับเอฟเฟกต์ของกล้องและทัศนมิติ
เอฟเฟกต์ “Rubber Head” เกิดจากการยึดรถเข็นไว้กับราง นักแสดงและรถเข็นจะเคลื่อนที่เข้าหากล้อง ในขณะที่กล้องอยู่กับที่ ซึ่งเป็นการสร้างเอฟเฟกต์แบบ “แว่นขยาย” เมื่อรถเข็นเคลื่อนเข้าใกล้เลนส์ และในทางกลับกันก็จะเกิดเอฟเฟกต์ที่ทำให้ดูเล็กลงเมื่อเคลื่อนห่างออกไป
The Man with the Rubber Head (1901) โดย Georges MélièsThe Cinémathèque française
ภาพยนตร์แนว Trick Film ทำให้เมเลียสสามารถสร้างฉากบนจอภาพยนตร์ในแบบที่ทำบนเวทีไม่ได้ เช่น ร่างที่ขาดเป็น 2 ท่อน ถูกรีด และระเบิด หัวและแขนขาขาดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังมีการใช้เทคนิคการทำซ้ำ, Substitution Splice, การแปลงกาย, การทำให้คนและวัตถุลอยได้…
A Trip to the Moon
ปี 1902 นับเป็นปีทองของเมเลียสเพราะเขาสร้างภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดของตนเรื่อง "A Trip to the Moon" โดยได้แรงบันดาลใจมาจากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ฌูล แวร์น, เอช. จี. เวลส์, สวนสนุก หรืออุปรากรขนาดย่อม (โอเปเรตตา)
Trip to the Moon โดย Georges MélièsThe Cinémathèque française
การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาหลายเดือนและใช้งบประมาณจำนวนมาก ม้วนฟิล์มมีความยาว 853 ฟุต (คิดเป็นภาพยนตร์ความยาวประมาณ 13 นาที) และมีฉากทั้งหมด 30 ฉาก
มีการใช้เทคนิคที่ยอดเยี่ยมและมีความท้าทายในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลกและถูกนำไปเผยแพร่อย่างผิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จนเมเลียสถึงกับต้องเปิดสำนักงานสาขาที่นั่นเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ภาพยนตร์
ช่วงขาลง
ปี 1908 เป็นปีที่รุ่งเรืองที่สุดของเมเลียส เขาสร้างภาพยนตร์ไปกว่า 50 เรื่องในปีนี้ แต่ไม่นานหลังจากนั้น จุดสิ้นสุดในวงการของเมเลียสกลับเริ่มต้นขึ้น ในปี 1912 เขาสร้างภาพยนตร์ 3 เรื่องสุดท้ายในชีวิตโดยอาศัยทุนจากบริษัทภาพยนตร์ทรงอิทธิพลอย่าง Pathé แต่ไม่มีเรื่องใดประสบความสำเร็จเลย ผู้ชมไม่อยากดูเรื่องราวเทพนิยายอีกต่อไปแล้ว คนหันมาชอบภาพยนตร์แนว Poetic Realism ของหลุยส์ เฟยยาดมากกว่า ในสหรัฐอเมริกา เดวิด ดับเบิลยู. กริฟฟิทได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการภาพยนตร์ทั่วโลก ในขณะเดียวกันสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ใกล้เข้ามาทุกที… บริษัทภาพยนตร์ฝรั่งเศสอย่าง Pathé, Gaumont และ Éclair กลายเป็นสถาบันหลักสำหรับสร้างภาพยนตร์ แต่เมเลียสปฏิเสธที่จะเปลี่ยนบริษัทอิสระเล็กๆ ของเขาไปเป็นองค์กรขนาดใหญ่
ช่วงตกอับ
ในปี 1923 หลังจากที่ไม่สามารถชดใช้หนี้ให้แก่ Pathé ได้ เมเลียสจำเป็นต้องขายสตูดิโอที่มอนทริอิล เขาหันมาหาเลี้ยงชีพด้วยการขายขนมและของเล่นที่สถานีมงต์ปาร์นาสในกรุงปารีส ในปี 1929 นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งได้พบเขาที่นั่นและมีการจัดงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา 3 ปีต่อมา เมเลียสและภรรยา เฌออาน ดาลซี (สมรสเมื่อปี 1925) ได้เข้าไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักคนชราของสมาคมภาพยนตร์ในออร์ลี เมเลียสเสียชีวิตที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 21 มกราคม 1938
ผลงานที่สร้างไว้
เทคนิคต่างๆ ที่เมเลียสสร้างสรรค์ได้ช่วยบุกเบิกเอฟเฟกต์พิเศษสมัยใหม่ซึ่งเป็นแบบดิจิทัลในปัจจุบัน ปรมาจารย์ในฮอลลีวูดมากมายยังระลึกถึงเมเลียสอยู่เสมอ และยกย่องให้นักมายากลจากเมืองมอนทริอิลคนนี้เป็นผู้เปิดโลกแห่งจินตนาการที่ไม่สิ้นสุด ผลงานล่าสุดและยิ่งใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเมเลียสคือภาพยนตร์เรื่อง Hugo ซึ่งกำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซีเมื่อปี 2011
สนใจเรื่อง Visual arts ใช่ไหม
รับข้อมูลอัปเดตจาก Culture Weekly ที่ปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ
เรียบร้อยแล้ว
Culture Weekly ฉบับแรกจะมาถึงในสัปดาห์นี้