เบื้องหลังนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ

เทรเวอร์ เมอร์เรียน และวิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการดำเนินโครงการครั้งประวัติศาสตร์นี้

โดย Google Arts & Culture

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ พร้อมกับช้างไม้แต่งเครื่องออกศึกพระราชทาน (1960)Queen Sirikit Museum of Textiles

นิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ ราชอาณาจักรไทย และ สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2361-2561 ได้นำของขวัญพระราชทานบางส่วนมาจัดแสดงที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปีแห่งมิตรภาพระหว่างสหรัฐฯ กับไทย นิทรรศการนี้ยังมีเอกสารโบราณที่หายาก ซึ่งหลายฉบับไม่เคยนำมาจัดแสดงที่ไหนมาก่อนอีกด้วย เทรเวอร์ เมอร์เรียน และวิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ ได้บอกเล่าถึงที่มาของนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ และสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการจัดนิทรรศการนี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานช้างไม้แต่งเครื่องออกศึกแก่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ณ งานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่จัดขึ้นที่ทำเนียบขาว เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2503 (ได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ถ่ายโดยแอบบี้ โรว์)

ที่มาของโครงการนี้


จดหมายฉบับพ.ศ. 2361 จากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ที่มีไปยังประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นำโดยเอกอัครราชทูตกลิน ที. เดวีส์ เห็นความสำคัญของจดหมายฉบับนี้ และวางแผนที่จะจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ ซึ่งจัดแสดงศิลปวัตถุที่แลกเปลี่ยนกันในช่วงประวัติศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และไทย เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปีของการติดต่อกันเป็นครั้งแรกระหว่างสองประเทศ

จดหมายจาก ดิศ บุญนาค ถึงประธานาธิบดีมอนโร จดหมายจาก ดิศ บุญนาค ถึงประธานาธิบดีมอนโร (1818)Queen Sirikit Museum of Textiles

จดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร พ.ศ. 2361 (ได้รับความอนุเคราะห์จากหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา)

มาเป็นภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการนี้ได้อย่างไร


ตอนที่สถานทูตสหรัฐฯ ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เราทั้งคู่กำลังทำโครงการวิจัยอยู่ที่เมืองไทยให้กับฝ่ายมานุษยวิทยาของสถาบันสมิธโซเนียน ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ ซึ่งก็รวมถึงการตีพิมพ์บทความเรื่องเครื่องดนตรีไทยเดิม หัวโขน และการบรรยายทั่วประเทศไทย เพื่อนร่วมงานของเราที่ศูนย์เมริเดียนอินเตอร์เนชันแนลซึ่งเป็นผู้จัดทำนิทรรศการนี้ทราบว่าเราเคยมีประสบการณ์การจัดคอลเล็กชันแสดงงานสะสมของไทยโบราณในสหรัฐฯ จึงขอให้เราเข้ามาร่วมจัดนิทรรศการนี้ด้วย
นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพนั้นไม่ได้นำศิลปวัตถุมาจากสถาบันสมิธโซเนียนเท่านั้น แต่ยังนำมาจากองค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ หอสมุดประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทั้ง 10 แห่ง หอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครและสถาบันพระปกเกล้าที่กรุงเทพมหานครมาจัดแสดงอีกด้วย

ขันถมเงิน, ที่วางQueen Sirikit Museum of Textiles

วิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ ภัณฑารักษ์ กำลังให้สัมภาษณ์เรื่องของขวัญจำนวนมากจากหอสมุดประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

แตะเพื่อสำรวจ

ทางเข้างานนิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ (สตรีทวิวของงานนิทรรศการที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)

แตะเพื่อสำรวจ

ทำไมถึงเลือกที่จะจัดนิทรรศการนี้ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถตั้งอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย หลายเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นที่นี่ ด้วยเหตุนี้ สถานที่แห่งนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งแก่การเปิดฉากประวัติศาสตร์หน้าใหม่ โชคดีที่พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิอันทันสมัยตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ระดับโลก ที่ช่วยให้เรานำของขวัญพระราชทานอันล้ำค่าจากอีกซีกโลกหนึ่งกลับมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ

แตะเพื่อสำรวจ

เครื่องถมทองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (สตรีทวิวของงานนิทรรศการที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)

แตะเพื่อสำรวจ

ทำไมของขวัญทางประวัติศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกาจึงเป็นจุดสำคัญของงานนิทรรศการ


เราอยากจัดนิทรรศการที่ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งมิตรภาพตลอดทั้ง 200 ปี ของขวัญที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทูลเกล้าถวายฯ แด่พระมหากษัตริย์ไทย มีความน่าสนใจเพราะปรากฎอยู่ตลอดประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ครั้งเมื่อราชทูตคนแรกมาเยือนจวบจนถึงปัจจุบัน ยิ่งเราศึกษาเบื้องหลังของขวัญแต่ละชิ้นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งค้นพบความโดดเด่นของมิตรภาพนี้มากขึ้นเท่านั้น

ของขวัญเช่นกล่องบุหรี่ทองประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มอบให้แก่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ ซึ่งสื่อถึงความปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพอย่างแท้จริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แสดงให้เห็นถึงพลานุภาพของของขวัญและสิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้อย่างสมบูรณ์แบบ

กล่องบุหรี่ประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ (1945)Queen Sirikit Museum of Textiles

กล่องบุหรี่ประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ที่ขบวนการเสรีไทยและสำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกานำมามอบให้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ ภาพถ่ายเอื้อเฟื้อโดย Burwell Photography)

พัดรอง(ตาลปัตร)ทำจากงาช้าง ผ้าไหม และปักดิ้นทองQueen Sirikit Museum of Textiles

เทรเวอร์ เมอร์เรียน ภัณฑารักษ์ พร้อมด้วยภิเษก ภาณุภัทร ที่ปรึกษาจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ณ ห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ ศูนย์สนับสนุนพิพิธภัณฑ์ สถาบันสมิธโซเนียน เมืองสวีทแลนด์ รัฐแมริแลนด์

ธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนของขวัญระหว่างสองประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร


การแลกเปลี่ยนของขวัญเมื่อแรกเริ่มไม่ราบรื่นในหลายๆ ครั้ง เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างอาณาจักรที่มีอายุหลายศตวรรษในเอเชียกับสาธารณรัฐที่เพิ่งเกิดใหม่ได้มานานอย่างสหรัฐฯ แต่ในเวลาต่อมา การแลกเปลี่ยนของขวัญก็เริ่มเป็นไปตามธรรมเนียมของแต่ละประเทศมากยิ่งขึ้น และเป็นสัญลักษณ์แห่งไมตรีจิตและความเข้าใจ ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ก็พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าเฝ้าฯ อยู่เป็นประจำ ซึ่งก็เป็นการชวนหวนให้รำลึกถึงประวัติศาสตร์และธรรมเนียมต่างๆ ในอดีตที่มีมาหลายปี

เลือกศิลปวัตถุมาจัดแสดงในนิทรรศการอย่างไร


เราอยากจะนำของขวัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ เมื่อ พ.ศ. 2399 มาจัดแสดงตั้งแต่แรก ของขวัญเหล่านี้เป็นศิลปวัตถุชิ้นแรกๆ ที่เก็บไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียน พอเราเริ่มหาของสะสมที่จัดเก็บไว้ที่องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติและหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา เราก็เจอของขวัญพระราชทานชิ้นอื่นๆ จำนวนมากจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ความแตกต่างระหว่างศิลปวัตถุเหล่านี้กับของขวัญพระราชทานชิ้นแรกๆ ทำให้เราอธิบายได้ว่าความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตลอดระยะเวลาสองศตวรรษ

นอกจากของขวัญแล้ว เอกสารทางประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ และภาพถ่ายจำนวนมากก็นำมาจัดแสดงด้วย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับเรื่องราวของการแลกเปลี่ยนของขวัญ ศิลปวัตถุบางชิ้นก็จำเป็นจะต้องนำมาจัดแสดง เช่น ต้นฉบับจดหมาย พ.ศ. 2361 จากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ที่มีไปยังประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร โชคดีที่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกาให้ความอนุเคราะห์ให้เรายืมมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ

เครื่องถมทอง ขัน กาน้ำ ถาดรองกาน้ำ และกรรไกรเครื่องตัดผม (1856)Queen Sirikit Museum of Textiles

เครื่องถมทองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ พ.ศ. 2399 (ถ่ายโดยเจมส์ ดิลอเรโตและผู้อื่น /ฝ่ายมานุษยวิทยา สถาบันสมิธโซเนียน)

กล่องบรรจุชุดของใช้บนโต๊ะทำงาน (1960)Queen Sirikit Museum of Textiles

ชุดเครื่องเขียนถมทองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แก่ประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ พ.ศ. 2503 (ได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ถ่ายโดย John Burwell Photography)

ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เจออุปสรรคอะไรบ้าง


ขนาดของนิทรรศการนี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ทุกส่วนของโครงการยากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ในที่สุดเราก็เลือกนำศิลปวัตถุจำนวนกว่า 79 ชิ้นจากสถาบันทั้ง 15 แห่งในสหรัฐฯ และไทยมาจัดแสดง งานนี้ไม่ว่าจะเป็นการยืมสิ่งของ การอนุรักษ์ การขนส่ง และการจัดกินเวลานานหลายชั่วโมงและต้องใช้ชาวไทยและชาวอเมริกันเป็นร้อยๆ คน ยกตัวอย่างเสื่อ “จันทบูร” พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แค่เพียงผืนเดียวก็ใช้เวลาอนุรักษ์หลายเดือนแล้ว เราโชคดีที่ได้ทีมงานเก่งๆ จากสถานทูตสหรัฐฯ และศูนย์เมอริเดียนที่ทำให้งานทุกอย่างสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
ทันทีที่จัดนิทรรศการเสร็จ เราก็เขียนหนังสือเพื่อบอกเล่าเรื่องราวแบบฉบับสมบูรณ์ ซึ่งใช้เวลาเขียนนานกว่าที่คาดไว้ แต่หลังจากการค้นคว้าข้อมูลมาเป็นหลายร้อยชั่วโมง ก็ได้รู้ว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายเรื่องที่อยากบอกเล่าให้ทุกคนทราบ หนังสือเล่มนี้ยังมีภาพถ่ายยอดเยี่ยมจากทีมงานของเจมส์ ดิลอเรโตที่ Smithsonian and John Burwell Photography บางภาพต้องใช้เวลาครึ่งวันเพื่อให้ได้แสงที่พอดี และเราก็คิดกันว่าจะไม่มีวันได้ภาพศิลปวัตถุทุกชิ้นภายในเวลาที่กำหนด แต่ในที่สุดสิ่งที่เราเครียดกันก็เกิดผล เพราะได้รูปภาพสวยๆ มาประกอบในหนังสือและแพลตฟอร์ม Google Arts & Culture

เสื่อจันทบูรทอรูปสัญลักษณ์นักษัตรปีจอQueen Sirikit Museum of Textiles

คิม คัลเลน คอบบ์ นักอนุรักษ์ จัดเตรียมเสื่อ “จันทบูร” สำหรับการอนุรักษ์ (ถ่ายโดยโคล เฟียลา)

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลองQueen Sirikit Museum of Textiles

ถ่ายรูปเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลองที่ศูนย์สนับสนุนพิพิธภัณฑ์ สถาบันสมิธโซเนียน เมืองสวีทแลนด์ รัฐแมริแลนด์ ร่วมกับเจมส์ ดิลอเรโตและเคท เชอร์วูด

หลังจากที่ได้ทำงานนี้ไป คุณรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกาพิเศษตรงไหน


เราสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันที่น่าสนใจและสำคัญหลายประการ เช่น ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่เป็นพันธมิตรทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ และสนพระราชหฤทัยดนตรีแจ๊สอเมริกันอีกด้วย

แต่โดยส่วนตัวแล้ว การได้เห็นว่านิทรรศการนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างไรทั้งจากชาวไทยและชาวอเมริกัน เป็นประสบการณ์ที่พวกเราจะจดจำไปอีกนาน ข่าวการเปิดนิทรรศการลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในกรุงเทพฯ เรายังได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์อีกด้วย พวกเราปลื้มใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นผู้ติดตามข่าวแสดงความขอบคุณและสนใจนิทรรศการ ตอนที่เราอธิบายรายละเอียดของนิทรรศการนี้ให้คนอเมริกันฟัง เขาก็จะแปลกใจตลอดที่ประวัติศาสตร์ไทยกับสหรัฐฯ ช่างเชื่อมโยงกัน ผลตอบรับเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแสนพิเศษระหว่างสองประเทศ

ในฐานะภัณฑารักษ์ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการจัดนิทรรศการครั้งนี้


นิทรรศการนี้ย้ำเตือนพวกเราว่า การนำศิลปวัตถุของจริงมาจัดแสดงในงานนิทรรศการมีประโยชน์เช่นไร แม้ว่าเราจะสามารถเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายและกราฟฟิกได้ แต่ก็ไม่มีอะไรมาแทนที่ของจริงได้อยู่ดี พวกเรารู้สึกว่าการได้เห็นพระปรมาภิไธยและลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในงานนิทรรศการครั้งนี้ ทำให้ประวัติศาสตร์มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก และเราก็หวังว่าผู้เข้าชมนิทรรศการจะรู้สึกเหมือนกัน

การอนุรักษ์และขนส่งวัตถุทำให้ขั้นตอนทั้งหมดยากขึ้นไปอีก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องราวของตนเอง เนื่องจากการสงวนรักษาวัตถุต่างๆ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงมิตรภาพ ผลกระทบระยะยาวของการจัดงานครั้งนี้ก็คือ ศิลปวัตถุที่คืนให้แก่สหรัฐฯ จะได้รับการอนุรักษ์และคงสภาพดีกว่าที่เคย เราภูมิใจที่งานนิทรรศการนี้ช่วยสงวนรักษาสมบัติล้ำค่าไว้ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า

แตะเพื่อสำรวจ

พระราชสาส์นจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่นำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ (สตรีทวิวของงานนิทรรศการที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)

แตะเพื่อสำรวจ

สุดท้ายนี้ มีอะไรอยากจะพูดถึงงานนี้และประสบการณ์ของคุณอีกไหม


ข้าพระพุทธเจ้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานนิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ เมื่อเดือนมีนาคม และที่พระราชทานพระราชานุญาตให้ถวายคำอธิบาย ขณะพระองค์ทอดพระเนตรนิทรรศการตามห้องจัดแสดง

หลังจากที่ได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายเดือน พวกเราก็เกิดความรู้สึกอันแรงกล้าว่า เราได้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์สหรัฐฯ กับไทย เราหวังว่านิทรรศการนี้จะถ่ายทอดการแสดงไมตรีจิตระหว่างสองประเทศนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจของเราตลอดการดำเนินงานครั้งนี้ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เครดิต: สื่อทั้งหมด
เรื่องราวที่นำเสนอบางเรื่องเขียนขึ้นโดยบุคคลหรือหน่วยงานอิสระภายนอก ซึ่งอาจแสดงมุมมองที่แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ที่อนุเคราะห์รูปภาพตามรายชื่อด้านล่าง
เรื่องราวจาก Queen Sirikit Museum of Textiles
สำรวจเพิ่มเติม
ธีมที่เกี่ยวข้อง
ของขวัญแห่งมิตรภาพ
ราชอาณาจักรไทย และสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2361-2561
ดูธีม
หน้าแรก
สำรวจ
เล่น
ใกล้เคียง
รายการโปรด