“ผีกะ”ความเชื่อล้านนาในอดีต

วีระศักดิ์ สัสดี

Ghost Family (2009) โดย Weerasak SutsadeeArt Centre Silpakorn University

ในอดีตความเกรงกลัวที่มีต่อภัยธรรมชาติ นำมาซึ่งการเคารพบูชาสิ่งที่มองไม่เห็น 

เช่น การเคารพในวิญญาณของบรรพบุรุษ การเซ่นไหว้ผี เพราะความเชื่อที่ว่าจะสามารถปกป้องคุ้มครองให้เกิดความปลอดภัย  โดยความเชื่อเหล่านี้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมา

ศิลปิน วีระศักดิ์ สัสดี เองมีถิ่นกำเนิดเป็นคนภาคเหนือซึ่งให้ความสำคัญกับพิธีกรรม และความเชื่อดังกล่าว 

ศิลปินได้รับอิทธิพลทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวและเรื่องเล่าจากบรรพชน จึงนำเอาเรื่องราวจากความเชื่อดังกล่าวมาถ่ายทอดด้วยการผสมผสานความงามอย่างมีเอกลักษณ์

ผลงานจิตรกรรมชุดนี้นำเสนอถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ ทั้งยังสอดแทรกความเป็นเอกลักษณ์ทางภาคเหนือ หญิงสาวรูปงามกับการแต่งกายในแบบพื้นบ้าน  

บรรยากาศของความเรียบง่ายจากโทนสีขาว เทา ดำ ขับเน้นความลึกลับด้วยสีแดงจากผ้าซิ่นและรูปแบบการทออันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่เด่นชัด

หญิงสาวในท่านั่งที่ต่างกันทั้งสามบนขอนไม้ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม เป็นจุดเด่นในผลงานที่เปรียบเสมือนผู้ดำเนินเรื่องราวภายในภาพทั้งหมด ด้วยใบหน้าเรียบเฉย และดวงตาที่มองตรงออกมาในตำแหน่งเดียวกันราวกับว่ากำลังสื่อสารกับผู้ชม

ผีกะเป็นความเชื่อที่สอดคล้องกับความงามของหญิงสาว ในอดีตเชื่อกันว่าผีกะมีพลานุภาพหากใครเลี้ยงไว้จะนำคุณประโยชน์มาให้โดยเฉพาะในเรื่องของความงาม 

ศิลปินจึงนำเสนอความงามที่มีการผสมผสานกับความเชื่อดังกล่าว

สัตว์คล้ายลิงสีดำเข้มเปรียบเสมือนตัวแทนของผีกะชนิดหนึ่งตามความเชื่อ ผีกะนั้นถูกเลี้ยงไว้โดยมีหม้อดินเป็นภาชนะ 

ในยุคสมัยที่มีความเจริญก้าวหน้าเข้ามา ความเชื่อดังกล่าวจึงเปลี่ยนไป เกิดการเลิกนับถือในเรื่องของภูตผีและวิญญาณกันมากขึ้น

จึงมีการทุบหม้อดินเผาให้แตกเพื่อแสดงออกถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านและมีการพัฒนาทางความเชื่อของมนุษย์ สัญลักษณ์ต่างๆเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในผลงานเพื่อเชื่อมโยงและบอกเล่าความเป็นมาได้อย่างน่าสนใจ

ศิลปินเลือกใช้เทคนิคสีอะครีลิคบนผ้าใบ ด้วยพื้นหลังสีเข้มที่มีความหยาบของคราบสี ทำหน้าที่ขับเน้นจุดเด่นในผลงานที่ใช้สีสว่างและพื้นผิวที่เรียบเนียน 

เทคนิคการลงสีบนผิวกายมนุษย์ได้อย่างเนียนละเอียดดูนุ่มนวลราวกับมีชีวิตนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของศิลปิน

การเลือกใช้น้ำหนักของโทนสีที่สว่างที่สุด ขับเน้นแสงเงาด้วยฝีแปรงอันเรียวเล็กคล้ายกับเทคนิคของการวาดเส้นในแต่ละจุดด้วยความละเมียด

การลงน้ำหนักที่ต่างกันทำให้ความโปร่งแสงของเนื้อสีและฝีแปรงที่ซ้อนทับกันสร้างน้ำหนักแสงเงาในภาพอย่างเป็นธรรมชาติ 

การถ่ายทอดความงามของหญิงสาวด้วยกายวิภาคที่แม่นยำ

ใบหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์และความสมจริงด้วยเทคนิคที่ใช้สร้างแสงเงาในร่างกายได้อย่างนุ่มละมุน แววตาที่สื่อสารออกมาจากภาพ ทำให้สัมผัสได้ถึงพลังของการสื่อสารที่ศิลปินร้อยเรียงเข้ากับเนื้อหาและสัญลักษณ์ต่างๆในภาพได้อย่างลงตัว

การเลือกใช้สัญลักษณ์ที่เต็มไปด้วยการสอดแทรกวัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อทางภาคเหนือนำมาแสดงออกผ่านผลงาน ด้วยความงามและเอกลักษณ์อันเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยเรื่องราว 

ถึงแม้ปัจจุบันความเชื่อและเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้มีความแพร่หลายแต่ผลงานของวีระศักดิ์ทำหน้าที่สะท้อนคุณค่า ถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านผลงานได้อย่างงดงามและมีความร่วมสมัย

เครดิต: เรื่องราว

ผลงานศิลปกรรมนี้เป็นสวนหนึ่งของคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผลงานนที่ได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ดูแลและจัดการโดยหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

เครดิต: สื่อทั้งหมด
เรื่องราวที่นำเสนอบางเรื่องเขียนขึ้นโดยบุคคลหรือหน่วยงานอิสระภายนอก ซึ่งอาจแสดงมุมมองที่แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ที่อนุเคราะห์รูปภาพตามรายชื่อด้านล่าง
เรื่องราวจาก Art Centre Silpakorn University
สำรวจเพิ่มเติม
ธีมที่เกี่ยวข้อง
Thailand Art Up Close
Explore 70 years of Thailand art history
ดูธีม

สนใจเรื่อง Visual arts ใช่ไหม

รับข้อมูลอัปเดตจาก Culture Weekly ที่ปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ

เรียบร้อยแล้ว

Culture Weekly ฉบับแรกจะมาถึงในสัปดาห์นี้

หน้าแรก
สำรวจ
เล่น
ใกล้เคียง
รายการโปรด